แนวการตอบข้อทดสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต
โดย
วิรัตน์ สีดาคุณ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น
แนวคำตอบ
๑.อ่านโจทก์ทั้งสิบข้อเพื่อหาคำตอบแต่ละข้อไว้
แล้วเลือกทำข้อที่มั่นใจที่สุด วิธีนี้ดีกว่าอ่านแล้วทำทีละข้อ เพราะอ่านทั้ง ๑๐
ข้อ และหาคำตอบแต่ละข้อไว้นั้นสมองยังไม่สับสน ทำให้จับประเด็นได้ครบ
การลงมือตอบจึงเป็นเพียงตกแต่งหรือเรียบเรียงถ้อยคำเท่านั้น
วิธีนี้เปรียบเสมือนการสร้างบ้านต้องมีแบบแปลนก่อนแล้วจึงลงมือทำตามแบบแปลนนั้น
๒.อ่านโจทก์แต่ละข้อต้องย่อโจทก์ให้สั้นโดยขีดเส้นใต้
เพราะจะทำให้พบประเด็นโจทก์ที่ซ่อนไว้ จุดใดที่คิดว่าเป็นประเด็นให้ทำเครื่องหมาย
*
และใส่เลขกำกับไว้ตามลำดับเพราะการตอบตามลำดับที่วางไว้ผู้ตรวจจะมีความรู้สึกคล้อยตามลำดับที่วางไว้จากต้นจนจบเปรียบเสมือนการเดินทางตามขั้นบันไดไปสู่จุดสุดท้ายคือคำตอบที่โจทก์ถาม
ส่วนชื่อคนให้ตีกรอบเพื่อป้องกันการสับสน
๓.ประเด็นที่ตอบแต่ละประเด็นต้องมีว่า
เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ตามหลักกฎหมายใด หรือเป็นอย่างนี้ตามหลักกฎหมายใด เพราะอะไร
๔.การเขียนคำตอบมี 3
ส่วน
๔.๑.๑
หลักกฎหมายใช้ ประมวลกฏหมาย............................มาตรา.........ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า...................................และมาตรา.................ได้วางหลักไว้ว่า...........................และมาตรา....................ว่า...............
* จะต้องใช้รูปแบบนี้เสมอทุกข้อ เลขมาตราต้องจำให้ได้
เพราะชี้ให้เห็นว่าเป็นนักกฎหมายที่มีรูปแบบและมีหลักเกณฑ์
๔.๑.๒
เนื้อหาหลักกฎหมายถ้าจำได้ไม่ผิดเพี้ยนจะเป็นการดี เพราะแสดงถึงความแม่นยำ
ประทับใจกรรมการ
๔.๑.๓
หลักกฎหมายที่จะยกมี ๒ รูปแบบ คือ
๔.๑.๓.๑
อาจนำหลักกฎหมายซึ่งเป็นประเด็นหลักของคำถามมาตั้งก็ได้ หรือ
๔.๑.๓.๒
อาจนำหลักกฎหมายในประเด็นรองแตร่ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นมาตั้งก็ได้
* ข้อสำคัญ หลักกฎหมายจะต้องไม่เกิน 2
มาตรา(และจะต้องเฉพาะวรรคที่จะตอบ)
หรือมากสุด ๓ มาตรา ทั้งนี้ เพราะหลักกฎหมายคะแนนน้อย แต่ไม่มีไม่ได้
เพราะอาจถูกหักคะแนนเนื่องจากถือว่าหากไม่มีหลักกฎหมายก็ไม่ใช่นักกฎหมาย
เปรียบเสมือนผู้เรียนสาขาอื่นก็สามารถตอบกฎหมายถูกต้องได้ หากวางหลักกฎหมายเกิน ๒/๓
มาตรา ระยะเวลาจะไปเบียดข้ออื่นๆได้
๔.๒ การวินิจฉัยให้ย่อหน้า
แล้วขึ้นต้นด้วย การที่
แล้วดูประเด็นตามที่ได้บันทึกไว้ ประเด็นที่ตอบแต่ละประเด็นต้องมีว่า
เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ตามหลักกฎหมายใด หรือเป็นอย่างนี้ตามหลักกฎหมายใด เพราะอะไร
ถ้อยคำที่ตอบต้องปรับข้อเท็จจริงให้กลมกลืนกับตัวบทของกฎหมายนั้นๆด้วย
และพยายามใช้ถ้อยคำของตัวบท จุดนี้เองที่จะถือว่าตอบได้ดีแค่ไหนเพียงใด
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมีค่าเท่ากับลำดับของประเด็นที่จะตอบและธงคำตอบที่ถูกต้อง
* การวินิจฉัยสุดท้ายต้องมี ดังนั้น
และตอบตามประเด็นที่โจทก์ถามว่าได้หรือไม่อย่างไร
๔.๓ สรุปคำตอบใช้ว่า ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้น
ให้นำถ้อยต่อจาก ดังนั้น มาตอบ
* การตอบสอบประเด็นว่าตอบครบหรือไม่นั้น
ให้ดูที่ข้อเท็จจริงที่ให้มาว่าเราได้ใช้ตอบหมดหรือไม่
หากใช้ข้อเท็จจริงที่ให้มายังไม่หมดให้พึงระลึกไว้ว่าตอบตกไปบางประเด็นแล้ว
คำถาม
นายหมัดกับนายประทวนเข้าหุ้นคนละหนึ่งแสนบาทร่วมกันซื้อโคส่งไปขายต่างประเทศ
ตกลงกันด้วยว่า ถ้าได้กำไรจะแบ่งกันคนละครึ่ง* (๑)
ถ้ากิจการขาดทุนนายประทวนจะแบ่งเงินเป็นกำไรให้นายหมัดดไม่ต่ำกว่าเดือนละสองพันบาท*
(๒) ต่อมารายได้จากกิจการโคตกต่ำ นายหมัด
นายประทวนมีเหตุบาดหมางกัน ทั้งนายประทวนยังอ้างว่า
นายหมัดมิได้ออกเงินทุนร่วมหุ้นด้วย* (๔)(๕)
นายหมัดจึงฟ้องขอบอกเลิกห้างหุ้นส่วนกับให้ตั้งผู้ชำระบัญชี
* (๗)
นายประทวนต่อสู้ว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาเข้าหุ้นส่วน* (๓)
และนายหมัดไม่ได้บอกกล่าวเลิกห้างหุ้นส่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน* (๖)
ขอให้ยกฟ้อง ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยอย่างไร
ประเด็น (๑)
เป็นการตกลงกันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนี้
และผู้เป็นหุ้นส่วนต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่มีจำกัด อันเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้น
ส่วนสามัญ ตามมาตรา ๑๐๑๒ ประกอบมาตรา ๑๐๒๕
(๒)
เป็นเพียงคำรับรองของนายประทวนต่อนายหมัดเท่านั้น มิใช่กรณีจะไม่เข้ามาตรา ๑๐๒๕
อันจะทำให้นายหมัดไม่ต้องรับผิดชอบสำหรับหนี้ของห้างหุ้นส่วนต่อบุคคลภายนอกก็หาไม่
(๓) ที่นายประทวนต่อสู้ว่า
ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาเข้าหุ้นส่วนกันฟังไม่ขึ้น
(๔)
ถือว่ามีเหตุอื่นใดทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
ตามมาตรา ๑๐๕๗(๓)
อันเป็นเหตุที่ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้
(๕)
นายหมัดมีสิทธิฟ้องขอให้เลิกห้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกห้างหุ้นส่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนตามมาตรา
๑๐๕๖
คำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๑๒ ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า
อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทนั้น
คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจกรรมร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
และมาตรา ๑๐๒๕ ได้วางหลักกฎฆมายไว้ว่า อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น
คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
การที่ *(๑)
นายหมัดกับนายประทวนตกลงเข้าหุ้นส่วนร่วมกันซื้อโคส่งไปขายต่างประเทศ
โดยตกลงกันว่าได้กำไรจะแบ่งกันคนละครึ่งนั้น
เป็นการตกลงเข้ากันทำกิจกรรมร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
อันถือเป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดตามมาตรา
๑๐๑๒ ประกอบมาตรา ๑๐๒๕ แล้ว *(๒ )
แม้ในสัญญญาเข้าหุ้นส่วนจะตกลงกันด้วยว่าถ้ากิจการขาดทุน
นายประทวนจะแบ่งเงินเป็นกำไรให้นายหมัดไม่ต่ำกว่าเดือนละสองพันบาทก็เป็นเพียงคำรับรองของนายประทวนต่อนายหมัดเท่านั้น
มิใช่กรณีจะไม่เข้าบทบัญญัติมาตรา ๑๐๒๕
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันจะทำให้นายหมัดไม่ต้องรับผิดชอบสำหรับหนี้ของห้างหุ้นส่วนต่อบุคคลภายนอกก็หามิได้
*(๓)
ดังนั้นที่นายประทวนต่อสู้ว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน
จึงฟังไม่ขึ้น
*(๔) การที่ต่อมารายได้จากกิจการค้าโคตกต่ำ
นายหมัด นายประทวนมีเหตุบาดหมางกัน
ทั้งนายประทวนยังอ้างว่านายหมัดมิได้ออกเงินลงทุนร่วมหุ้นด้วย ถือว่ามีเหตุอื่นใดๆ
ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ตามมาตรา ๑๐๕๗(๓)
อันเป็นเหตุที่ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกเสียก็ได้
*(๕)
และในกรณีเช่นนี้นายหมัดมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั้งเลิกห้างหุ้นส่วนได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกส่า
๖ เดือนตามมาตรา ๑๐๕๖ เพราะเป็นการลิกโดยมีเหตุการณ์เสียหายเกิดขึ้นกลางคันซึ่งควรจะต้องเลิกและชำระบัญชีเสียโดยพลัน
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปอีก *(๖)
ดังนั้น
ที่นายประทวนต่อสู้ว่านายหมัดไม่ได้บอกกล่าวเลิกห้างหุ้นส่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖
เดือน จึงฟังไม่ขึ้น
*(๗)
เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชีตามมาตรา ๑๐๖๑ *(๘)
ดังนั้น
การที่นายหมัดฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนกับให้ตั้งผู้ชำระบัญชี
ศาลชอบที่จะวินิจฉัยให้เลิกห้างหุ้นส่วนระหว่างนายหมัดกับนายประทวนและให้ตั้งผู้ชำระบัญชี
ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยข้างต้น
ศาลชอบที่จะวินิจฉัยให้เลิกห้างหุ้นส่วนระหว่างนายหมัดกับนายประทวน
และให้ตั้งผู้ชำระบัญชี
คำถาม
นายกอบและนายกำเป็นหุ้นส่วนกันในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนขายเครื่องสำอาง
ไม่มีข้อสัญญากำหนดว่าใครเป็นผู้จัดการ * (1)
นายกอบขับรถยนต์ของห้างไปสืบราคาสินค้าในท้องตลาด *(2)
ด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายเก่งบาดเจ็บ *(3)
ส่วนนายกำไปกู้เงินนายกล้ามาซื้อน้ำหอมเข้าร้าน *(5) ดังนี้
นายเก่งและนายกล้า จะฟ้องนายกอบและนายกำให้รับผิดได้อย่างไรหรือไม่ *(4)(6)
ประเด็น (๑)
ไม่มีข้อสัญญากำหนดว่าใครเป็นผู้จัดการ
ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน ตามมาตรา ๑๐๓๓ วรรคหนึ่ง
(๒)
ย่อมถือได้ว่าได้จัดทำไปในทางที่เป็นทางที่เป็นทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้นตามมาตรา
๑๐๕๐
เพราะเป็นการกระทำซึ่งเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือจำเป็นในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วน
(๓)
เป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นในขณะไปสืบราคาสินค้า
ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมผูกพันในการนั้นๆด้วย
และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
ตามมาตรา ๑๐๕๐
(๔) ดังนั้น
นายเก่งจะฟ้องนายกอบหรือนายกำคนใดคนหนึ่งให้รับผิดทั้งหมดหรือจะฟ้องนายกอบและนายกำให้รับผิดร่วมกันก็ได้
(๕)
ย่อมถือได้ว่าได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้นตามมาตรา
๑๐๕๐ เพราะ(เช่นเดียวกับข้อ ๒)
(๖) ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความ(ตามข้อ
๓)
(๗) ดังนั้น นายกล้าจะฟ้อง (ตามข้อ
๔)
(๘)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนายเก่งและนายกล้า(ตามข้อ ๔
+๗)
คำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๕๐
ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า
การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น
ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย
และจำต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้น
เพราะจัดการไปเช่นนั้น
*(1) การที่นายกอบและนายกำเป็นหหุ้นส่วนกันในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนขายเครื่องสำอาง
ไม่มีข้อสัญญากำหนดว่าใครเป็นผู้จัดการ
ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน ตามมาตรา ๑๐๓๓ วรรคหนึ่ง
*(2) การที่นายกอบขับรถยนต์ของห้างไปสืบราคาสินค้าในท้องตลาด
ย่อมถือได้ว่าได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้นตามมาตรา
๑๐๕๐
*(3)
เมื่อกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายเก่งบาดเจ็บอันเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นในขณะไปสืบราคาสินค้า
นายกอบและนายกำผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย
และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้น
เพราะจัดการไปเช่นนั้นตามมาตรา ๑๐๕๐
*(4) ดังนั้น
นายเก่งจะฟ้องนายกอบหรือนายกำคนใดคนหนึ่งให้รับผิดทั้งหมดหรือจะฟ้องนายกอบและนายกำให้รับผิดร่วมกันก็ได้
*(5)
และการที่นายกำไปกู้เงินนายกล้ามาซื้อน้ำหอมเข้าร้านก็ถือได้ว่า
ได้กระทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการาค้าขายของห้างหุ้นส่วนตามมาตรา ๑๐๕๐
เพราะโดยปกติการค้าย่อมมีการกู้หนี้ยืมสินกันมาลงทุนบ้าง
และวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนก็เพื่อขายเครื่องสำอาง
น้ำหอมก็เป็นเครื่องสำอางอย่างหนึ่ง
*(6) เมื่อนายกำไปก่อหนี้ขึ้นดังกล่าว
นายกำและนายกอบผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย
และจะต้องรับผิดชอบร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้นตามมาตรา
๑๐๕๐
*(7) ดังนั้น นายกล้าจะฟ้องนายกำหรื อนายกอบคนใดคนหนึ่งให้รับผิดทั้งหมดหรือจะฟ้องนายกำและนายกอบให้รับผิดร่วมกันก็ได้
*(8) ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยข้างต้น
นายเก่งและนายกล้าจะฟ้องนายกอบหรือนายกำคนใดคนหนึ่งให้รับผิดทั้งหมดหรือจะฟ้องนายกอบและนายกำให้รับผิดร่วมกันก็ได้
คำถาม
นายเก่งและนายกล้าเข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์รับส่งสินค้าทางรถยนต์และรับจ้างบรรทุกของ
โดยนายเก่งนำรถยนต์บบรทุกคนหนึ่งมาลงหุ้น ส่วนนายกล้าลงหุ้นด้วยแรงงาน
ตกลงจะแบ่งกำไรกันคนละครึ่ง *(1)
แต่ไม่ได้ตกลงกันในเรื่องการขาดทุน *(2) ปรากฏว่า
นายกล้าซึ่งเป็นผู้จัดการได้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวบรรทุกสินค้าไปส่งให้นายตรีตามที่ว่าจ้าง
*(3)
ระหว่างทางนายกล้าขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทไปชนนายโทได้รับบาดเจ็บสาหัส*(4)
ให้วินิจฉัย
นายเก่งและนายกล้าต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้นายโทตามกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนหรือไม่*(5)
ประเด็น (๑)
เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามมาตรา ๑๐๑๒,๑๐๒๕
และ ๑๐๒๖ แล้ว
(๒) ไม่ได้ตกลงเรื่องขาดทุนก็ไม่สำคัญ
เพราะต้องเฉลี่ยขาดทุนตามส่วนที่ลงหุ้น ตามมาตรา ๑๐๔๔
(๓)
ถือว่าได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนตามมาตรา ๑๐๕๐
เพราะเป็นวัตถุประสงค์ของห้าง
(๔) เป็นการละเมิด
ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย
และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้น
เพราะจัดการไปเช่นนั้นตามมาตรา ๑๐๕๐
(๕)
นายเก่งและนายกล้าต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้นายโท ตามกฎหมายลักษณะหุ้นส่วน
คำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๑๒
ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่าอันส่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน
ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น มาตรา ๑๐๒๕
ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า
อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นคือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
และมาตรา ๑๐๒๖ ได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า
ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน
และวรรคสองว่า สิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยนั้น
จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือแรงงานก็ได้
การที่ *(1)
นายเก่งและนายกล้าตกลงเข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์รับส่งสินค้าโดยทางรถยนต์และรับจ้างบรรทุกของ
โดยนายเก่งนำรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งมาลงหุ้น
ส่วนนายกล้าลงหุ้นด้วยแรงงานตกลงจะแล่งกำไรกันคนละครึ่งนั้นเป็นการเข้าหุ้นกันเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามมาตรา
๑๐๑๒,๑๐๒๕ และมาตรา ๑๐๒๖ แล้ว *(2)
แม้จะไม่ได้ตกลงกันในเรื่องการขาดทุนก็หาเป็นข้อสำคัญไม่
เพราะหากมีการขาดทุนก็ต้องเฉลี่ยกันขาดทุนตามส่วนที่ลงทุนตามมาตรา ๑๐๔๔
เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
*(๓)
การที่นายกล้าซึ่งเป็นผู้จัดการได้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวบรรทุกสินค้าไปส่งนายตรีตามที่ว่าจ้าง
อันถือว่าได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้นตามมาตรา ๑๐๕๐
เพราะกระทำภายในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนอันเป็นความมุ่งหมายโดยตรงในการตั้งห้างหุ้นส่วน
*(4)
เมื่อนายกล้าขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทไปชนนายโทได้รับบาดเจ็บสาหัสอันเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น
นายเก่งและนายกล้าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย
และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้น
เพราะจัดการไปเช่นนั้นตามมาตรา ๑๐๕๐ ดังนั้น *(5)
นายเก่งและนายกล้าต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายโทตามกฎหมายลักษณะหุ้นส่วน
ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยข้างต้น
นายเก่งและนายกล้าต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายโทตามกฎหมายลักษณะหุ้นส่วน
หนังสืออ้างอิง
หนังสือ วันรพี ๒๕๔๗
พิมพ์โดย ศาลจังหวัดขอนแก่น พิมพ์ที่ บริษัท อทตยา มิเล็นเนียน
จำกัด สิงหาคม ๒๕๔๗
หมายเหตุ เผื่อใช้เป็นแนวทางครับ แต่สำหรับผมยังไม่จบ
หนทางยังต้องเดินทางอีกไกล
จึงขอส่งวิธีการเขียนของท่านที่ประสบความสำเร็จมาให้ดูเป็นตัวอย่าง
ถ้าเขียนได้ในระดับท่านตามตัวอย่างที่ไหน สอบผ่านแน่นอนครับ แต่ผมสักครึ่งหนึ่ง
50 จาก 100 ก็แสนจะปรีดาปราโมทย์
สุขใจแล้วครับ (ผู้แต่งสอบได้เนติฯอันดับ 1
แต่ผมจำไม่ได้ว่าสมัยใด )
วิธีการทำข้อสอบ
โดย
นายเลิศพงษ์ พุมนาวิน เนติบัณฑิตไทย อันดับ
1
สมัย 43
เมื่อได้รับข้อสอบแล้ว ควรจะตั้งสติให้คงที่ ทำใจให้สบาย
แล้วท่านเริ่มอ่านโจทก์หลายๆเที่ยวให้เข้าใจในปัญหาเสียก่อน
วิธีการเลือกตอบข้อสอบนั้นแต่ละท่านคงมีวิธีการที่แตกต่างกันไป
แต่วิธีการที่ดีควรใช้วิธีการดังนี้
1. ควรอ่านข้อสอบทั้งหมดแล้วจึงเลือกตอบข้อที่ทำได้ก่อน
วิธีนี้จะทำให้รู้ว่าในการสอบมีข้อสอบอย่างไรบ้าง
2. วิธีอ่านข้อสอบที่ละข้อ
เมื่อเห็นว่าข้อไหนสามารถทำได้ก็ลงมือทำวิธีนี้เป็นวิธีจะเห็นได้ว่า
ผู้เข้าสอบจะไม่เสียเวลาในการอ่านข้อสอบทั้งหมด 10 ข้อ
ซึ่งจะไม่เสียเวลา อาจไม่น้อยกว่า 30 นาที
ซึ่งถ้าเอาเวลาเหล่านี้ไปใช้ในการทำข้อสอบอาจทำข้อสอบได้ถึง 2
ข้อ ส่วนในเรื่องเวลา มีเวลาทั้งหมด 4 ชม.
ต้องทำข้อสอบทั้งหมด 10 ข้อ ตกข้อละ
24 นาทีเท่านั้น
ดังนั้นควรทำข้อสอบที่ทำได้ก่อนอย่าไปคิดถึงข้อที่ทำไม่ได้
ควรทบทวนการทำข้อสอบเมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว และที่สำคัญอย่าลืมเผื่อเวลาไว้ด้วย
เพราะข้อที่ทำไม่ได้อาจใช้เวลาถึง 30 นาที
วิธีการเขียนข้อสอบ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. การตอบแบบแยกเป็นขั้นตอน
2. การตอบแบบรวมวินิจฉัยหรือแบบฟันธง
การตอบข้อสอบนั้น มีหลายท่านถามว่าตอบอย่างไรถึงได้คะแนนดี
บางท่านบอกว่าตอบได้ถึง 15 ข้อทำไมถึงสอบตก
ลองอ่านวิธีการตอบข้อสอบที่จะได้คะแนนดีดังนี้
วิธีการตอบแบบแยกเป็นขั้นตอน
วิธีการตอบแบบแยกเป็นขั้นตอนในการตอบข้อสอบมีองค์ประกอบ 3
ประการ
1.1 ยกหลักกฎหมาย
1.2 วินิจฉัย
1.3 สรุป
วิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวกันกับการตอบข้อสอบในมหาวิทยาลัย
การใช้วิธีการนี้จุดสำคัญที่สุด ท่านต้องมีความแม่นยำในการตอบข้อสอบ กล่าวคือ
ท่านต้องมีความจำด้วยการเขียนตัวบทกฎหมาย
ความเข้าใจด้วยการนำตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริง
และท่านต้องสรุปคำตอบของท่านได้ การตอบแบบแยกขั้นตอนนี้ มีข้อดีและข้อเสียคือ
ข้อดีนั้นจะเป็นการเรียกคะแนนจากกรรมการผู้ตรวจข้อสอบ ทำให้ท่านได้คะแนนมากขึ้น
เนื่องจากท่านเขียนหลักกฎหมายได้อย่างละเอียดและสรุปปัญหาในจุดสำคัญได้
เป็นการแสดงความรู้ความสามารถของท่าน
จุดนี้เองจะเป็นจุดที่เน้นการเขียนตอบข้อสอบให้ได้คะแนนดีขึ้น
แต่ข้อควรระวังท่านต้องมั่นใจว่าท่านทำข้อสอบข้อนั้นๆได้จริงๆ
จึงจะเลือกใช้วิธีการตอบแบบแยกขั้นตอน
ตัวอย่าง
นายสมชายต้องการฆ่านายสมศักดิ์แต่ปรากฏว่ายิงไปแล้วปืนไม่ลั่น
เพราะกระสุนปืนด้าน ยิงนัดที่สองก็ไม่ลั่นอีกเช่นกัน ยิงนัดที่สามปืนจึงลั่น
แต่ยิงไม่ถูกนายสมศักดิ์เพราะนายสมศักดิ์หลบทัน แต่พลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายตาย
อยากทราบว่านายสมชายมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินฐานใดหรือไม่
ตอบ
ตามปัญหานี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า
การกระทำของนายสมชายเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59 และมาตรา 81
หรือไม่ และการกระทำของนายสมชายเป็นการกระทำโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
60 หรือไม่
ส่วนในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินต้องวินิจฉัยว่านายสมชายผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 358 หรือไม่
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ ดังนี้
มาตรา 59 วรรคสอง "การกระทำโดยเจตนาได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ
และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลการกระทำนั้น"
มาตรา 288 "ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระว่างโทษ..."
มาตรา 80 "ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด
หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด
ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้น"
มาตรา 81 "ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งหมายต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำ
หรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น..."
มาตรา 60 "ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ผลของการกระทำเกินแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป
ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น...."
มาตรา 358 "ผู้ใดทำให้เสียหาน ทำลาย
ทำให้เสื่อมค่า
หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์...."
วินิจฉัย
ตามปัญหานี้การที่นายสมชายมีเจตนาฆ่านายสมศักดิ์และยกปืนเล็งไปที่นายสมศักดิ์พร้อมกับลั่นไกปืน
ถือได้ว่านายสมชายได้ลงมือกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นแล้ว
แต่เมื่อลั่นไกปืนไปถึงสองครั้งแต่ปืนไม่ลั่น เนื่องจากกระสุนปืนด้าน
หาถือได้ไม่ว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 81
เพราะจะเป็นการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้นั้นโดยสภาพแห่งการกระทำต้องเห็นได้ว่า
ไม่สามารถสำเร็จผลได้ในองค์ประกอบแห่งความผิดได้อย่างแน่แท้
เพราะเหตุวัตถุที่ใช้กระทำความผิดหรือปัจจัยที่มุ่งหมายกระทำต่อ เช่น
การเสกหนังควายเข้าท้องผู้อื่นให้ถึงแก่ความตาย
ซึ่งวิธีนี้ปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้
จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
ได้ แต่ตามปัญหาที่กระสุนไม่ลั่นนั้นมิใชาเป็นเหตุที่จะทำให้ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นไม่เกิดขึ้นอย่างแน่แท้เสมอไป
แต่กระสุนปืนไม่ลั่นนั้นเป็นเพราะเหตุบังเอิญ
นายสมชายจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59 และมาตรา 81
เมื่อนายสมชายยิงปืนนัดที่สาม กระสุนปืนลั่นแต่ไม่ถูกนายสมศักดิ์
เนื่องจากนายสมศักดิ์หลบทัน ถือได้ว่า
เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล
นายสมชายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59และมาตรา
80 นอกจากนั้นกระสุนปืนยังพลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายตาย
แม้ตามปัญหานี้จะใช้คำว่า "พลาดไป"
แต่ก็หาใช่เป็นการกระทำโดยพลาดซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60
ไม่
เพราะจะเป็นการกระทำโดยพลาดได้วัตถุแห่งการกระทำต้องเป็นอย่างเดียวกัน เช่น
ต้องการกระทำต่อบุคคลหนึ่งผลร้ายเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง
หรือต้องกระทำต่อทรัพย์ของบุคคลหนึ่งแต่ผลร้ายเกิดแก่ทรัพย์ของบุคคลอีกคนหนึ่ง
จึงจะเป็นการกระทำโดยพลาดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60
ตามปัญหาวัตถุแห่งการกระทำเป็นคนละชนิดกัน
เมื่อกระสุนปืนไปถูกสุนัขของนายสมหมายตาย ต้องพิจารณาว่า
นายสมชายมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่
โดยพิจารณาจากเจตนาเดิมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59
ซึ่งมีเจตนาฆ่าผู้อื่นไม่มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายแต่อย่างใดไม่
จึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของนายสมชายมีเจตนาทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นายสมชายจึงไม่มีความผิด
เพราะความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น
และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดในเรื่องกระทำให้เสียทรัพย์โดยประมาท
นายสมชายจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 258
สรุป
นายสมชายผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59
วรรคสอง และมาตรา 80
แต่ไม่ผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ตามประวลกฎหมายอาญามาตรา
288,59 และมาตรา 81
กรณีนี้การกระทำของนายสมชายไม่ใช่กระทำโดยพลาดตามมาตรา 60
เพราะเหตุวัตถุแห่งการกระทำคนละอย่างกัน
ส่วนจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358
นายสมชายไม่มีเจตนากระทำต่อทรัพย์ มีแต่เจตนาที่จะ
กระทำต่อบุคคลแต่ผลไม่เกิดขึ้นกับทรัพย์ เจตนาจะโอนไปตามมาตรา 60
ไม่ได้ เพราะเจตนาต่างกันและวัตถุแห่งการกระทำเป็นคนละอย่างกันด้วย
จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทด้วยเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ในกรณีนี้ต้องไปกล่าวกันในทางแพ่ง
วิธีการตอบข้อสอบอีกวิธีหนึ่งคือการรวมวินิจฉัยหรือแบบฟันธง
กรณีนี้เป็นการตอบเมื่อผู้สอบไม่แน่ใจว่าจะทำข้อสอบได้หรือไม่
หรือจำตัวบทกฎหมายได้ไม่แม่นยำ การตอบข้อสอบในกรณีนี้มีข้อดีคือ
จะช่วยกลบเกลื่อนข้อบกพร่องในการการตอบข้อสอบและประหยัดเวลาเพาะผู้สอบมีความรู้ไม่แม่นยำแต่ตอบข้อสอบแยกขั้นตอนจะทำให้เห็นจุดบกพร่องได้อย่างชัดเจน
เช่น ในกรณีเขียนหลักกฎหมายไม่ถูกต้อง วินิจฉัยไม่สละสลวย
สรุปผิดจะเห็นได้ว่าเป็นผลร้ายอย่างยิ่งถ้าเลือกวิธีตอบแบบแยกขั้นตอน
เพราะกรรมการผู้ตรวจข้อสอบย่อมเห็นจุดบกพร่องอย่างเด่นชัด
แต่ถ้าตอบแบบวิธีรวมวินิจฉัยเป็นการตอบแบบคลุมๆ
เพื่อกลบเกลื่อนจุดบกพร่องเมื่อกรรมการตรวจข้อสอบแล้วเห็นว่าถึงจะตอบไม่ถูกต้องแม่นยำแต่ก็มีความรู้อยู่บ้างอาจจะให้สอบผ่านไปในข้อนั้น
แต่ข้อเสียในการตอบแบบรวมวินิจฉัย คือ
ข้อสอบที่ทำได้แต่ใช้วิธีการตอบแบบรวมวินิจฉัยนั้นถ้าท่านไม่มีความสามารถในการเขียนข้อสอบที่ดีท่านก็จะได้คะแนน
น้อยลงเพราะการอธิบายสอดแทรกด้วยหลักกฎหมาย วินิจฉัยพร้อมกับสรุปไปพร้อมกัน
อาจทำให้การอธิบายไม่ต่อเนื่องวกวนได้คะแนนไม่ดี
ตัวอย่างการตอบแบบรวมวินิจฉัย (ฟันธง)
ตามปัญหาข้างต้นการตอบแบบรวมวินิจฉัยตอบได้ดังนี้
การกระทำของนายสมชาย
เอาปืนจ่อเล็งไปที่นายสมศักดิ์และลั่นไกปืน
ถือได้ว่านายสมชายมีเจตนาฆ่านายสมศักดิ์แล้ว ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา
ดังนี้ "การกระทำโดยเจตนา
คือการกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำ..."
การเอาปืนจ้องเล็งแล้วยิงถือได้ว่ามีการลงมือกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยประสงค์ต่อผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
แต่เนื่องจากกระสุนปืนด้านจึงทำให้ปืนไม่ลั่น
การที่ปืนไม่ลั่นเพราะกระสุนด้านนั้นหาใช่เป็นการกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้
ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ "ผู้ใดกระทำโดยมุ่งต่อผลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดแต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้"
การที่ปืนไม่ลั่นเป็นเพียงเหตุบังเอิญเนื่องจากกระสุนด้าน
หาถือได้ไม่ว่าเป็นการกระทำผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้
เมื่อยิงปืนครั้งที่สามกระสุนปืนลั่นออกไปแต่ไม่ถูกยสบสมศักดิ์เพราะนายสมศักดิ์หลบได้ทัน
นายสมชายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายสมศักดิ์ ซึ่งมีหลักกฎหมายตาม
ประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ "ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ..."
และ "ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแล้วแต่ไม่บรรลุผลให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้"
เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกนายสมศักดิ์
แต่พลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายถึงแก่ความตายกรณีนี้หาใช่การกระทำโดยพลาดไม่
เพราะการกระทำโดยพลาดต้องมีวัตถุแห่งการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน
ถ้ากระทำต่อบุคคลที่เกิดก็ต้องเกิดกับบุคคล
หรือกระทำต่อทรัพย์ผลที่เกิดก็ต้องเกิดกับทรัพย์เช่นเดียวกัน
กรณีนี้เป็นการกระทำต่อบุคคลแต่ผลไปเกิดกับทรัพย์ จึงมิใช่กระทำโดยพลาด
ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ "ผู้ใดมีเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง
แต่ผลแห่งการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป
ให้ถือว่าผู้นั้นมีเจตนาแก่บุคคลผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น..."
การที่กระสุนปืนพลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายตายจึงไม่ใช่การกระทำโดยพลาด
แต่ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่
ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ "ผู้ใดทำให้เสียทรัพย์
ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์
ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษ..."
ในกรณีนี้ต้องพิจารณาเจตนาเดิมของผู้กระทำความผิดว่ามีเจตนาอย่างไร
เจตนาเดิมมุ่งประสงค์ต่อชีวิตของบุคคล หาได้มุ่งทรัพย์แต่อย่างใดไม่
เมื่อการกระทำพลาดไปถูกทรัพย์เสียหายเจตนาจึงไม่อาจโอนไปได้
ซึ่งมีผลเท่ากับนายสมชายไม่มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์
จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แม้ว่าการกระทำของนายสมชายเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย
ก็จะลงโทษนายสมชายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่ได้
เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดในเรื่องทำให้เสียทรัพย์โดยประมาท
ต้องไปฟ้องร้องกันในทางแพ่ง
วิธีการเขียนตอบควรใช้ทั้งสองวิธี
ถ้าข้อไหนจำคำตอบและหลักกฎหมายได้อย่างแม่นยำใช้วิธีการตอบแบบแยกขั้นตอนในการตอบ
ถ้าข้อไหนจำได้ไม่แม่นยำจะใช้วิธีรวมวินิจฉัยหรือฟันธง
ทัศนะบางประการเกี่ยวกับวิธีศึกษากฎหมายและการตอบข้อสอบแบบอัตนัย
ผศ.ประสิทธิ์ จงวิชิต น.บ.
(เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) (รามคำแหง),
น.บ.ท.,
น.ม. (จุฬา)
อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง\
วิชากฎหมายเป็นวิชาที่ค่อนข้างยากและมีความละเอียดอ่อน
ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่ นักศึกษาจะต้องรู้ถึงวิธีศึกษากฎหมายว่า
จะเรียนกฎหมายอย่างไรจึงจะได้ผลดีมากที่สุด กล่าวคือ
ได้รับความรู้มากที่สุดและสอบไล่ได้คะแนนดีที่สุด
การที่จะสอบให้ได้คะแนนดีนั้นไม่ใช่ขึ้นอยู่ที่ความเฉลียวฉลาดเพียงอย่างเดียว
แต่อยู่ที่การรู้จักวิธีศึกษาและวิธีตอบข้อสอบด้วย ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า
วิธีศึกษากฎหมายให้ได้ผลดีนั้นมีวิธีการอย่างไร
การที่จะศึกษาวิชากฎหมายให้ได้ผลดีนั้น
ต้องประกอบไปด้วยสิ่งสามประการดังต่อไปนี้
1. ความจดจำ
2. ความเข้าใจในสิ่งที่จดจำ
3. การรู้จักนำสิ่งที่จดจำและเข้าใจนั้นไปใช้ให้ถูกต้อง
ความจำ
เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายระบบ Civil Law
หรือประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย
ดังนั้นตัวบทกฎหมายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จะเห็นได้ชัดเวลาตอบข้อสอบ
นักศึกษาจะต้องจดจำตัวบทกฎหมายให้ได้จึงจะตอบได้ ยกตัวอย่างเช่นถ้าคำถามเขาถามว่า
การกระทำโดยเจตนาในทางอาญา คืออะไร
นักศึกษาจะตอบคำถามข้อนี้ได้ นักศึกษาจะต้องจำตัวบทกฎหมายได้
กล่าวคือ จะต้องจำหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ได้
โดยอาจตอบว่า การกระทำโดยเจตนาในทางอาญา
ได้แก่การกระทำโดยรู้สึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้านักศึกษาจำตัวบทมาตรา 59 ไม่ได้แล้ว ก็จะตอบไม่ได้
เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ความจดจำไม่ว่าจะจดจำตัวบทกฎหมาย คำอธิบาย ต่าง ๆ
จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของการศึกษากฎหมาย
ถ้าไม่มีความจดจำก็ยากนักที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งเราอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า
บุคคลจะศึกษากฎหมายโดยปราศจากความจดจำ มิได้
มีปัญหาต่อไปว่า
นักศึกษาจะทำอย่างไรจึงจะจำตัวบทกฎหมายและคำอธิบายของอาจารย์ได้
ในเรื่องนี้ไม่สามารถจะวางหลักเกณฑ์เป็นการทั่วไปได้
ทั้งนี้เพราะสมองของคนเราย่อมมีความจำไม่เหมือนกัน บางคนอ่านหนังสือในใจเพียง
2 3 ครั้งก็จำได้ บางคนต้องอ่านสิบกว่าครั้งจึงจะจำได้
บางคนต้องย่อเป็นหัวข้อ แล้วท่องหัวข้อสั้น ๆ เสร็จแล้วจึงมาอ่านรายละเอียดจากตำรา
นอกเหนือไปกว่านั้นบางคนต้องอ่านให้มีเสียงดัง ๆ เพื่อหูของเขาจะได้ยินจึงจะจดจำได้
อย่างไรก็ตามในเรื่องทำอย่างไรจึงจะจำตัวบทกฎหมายและคำอธิบายได้นี้
เป็นเรื่องที่นักศึกษาจะต้องสำรวจตัวของตัวเองว่า
วิธีอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับงานอย่างที่สุดด้วยการทดลองกับตัวเอง
แล้วเลือกปฏิบัติอย่างนั้น
ความเข้าใจในสิ่งที่จดจำ
ในการศึกษากฎหมายนั้น นอกจากจะต้องมีความจดจำแล้ว
นักศึกษายังจะต้องมีความเข้าใจด้วย
กล่าวคือเมื่อจดจำตัวบทกฎหมายได้แล้วขั้นต่อไปต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าถ้อยคำในตัวบทกฎหมายนั้นหมายถึงอย่างไร
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
บัญญัติว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น
หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำผิดฐานลักทรัพย์
ในมาตรา 334 นี้
มีถ้อยคำที่นักศึกษาจะต้องทำความเข้าใจให้ได้ อย่างเช่นคำว่า เอาไป
หมายถึงอะไร หรือว่า โดยทุจริต
หมายถึงอะไร จากตัวอย่างที่กล่าวนี้ ถ้านักศึกษามีความเข้าใจ
นักศึกษาอาจตอบได้ว่า เอาไป
หมายถึงการเอาไปจากการครอบครองของผู้อื่น ส่วนคำว่า โดยทุจริต
หมายถึง
การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
หรือกรณีความผิดฐานเจ้าพนักงานรับสินบนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
ซึ่งมีหลักว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ
หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง
ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ในมาตรา
149 นี้ มีถ้อยคำที่นักศึกษาจะต้องทำความเข้าใจให้ได้
อย่างเช่นคำว่า เจ้าพนักงาน
หมายถึงผู้ใด ถ้านักศึกษามีความเข้าใจ นักศึกษาอาจตอบได้ว่า คำว่า เจ้าพนักงาน
หมายถึง ข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย
โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน
หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ดังนี้เป็นต้น
การเรียนกฎหมายลำพังเพียงมีความจดจำอย่างเดียว
โดยปราศจากความเข้าใจนั้นย่อมไม่ช่วยให้นักศึกษาสอบไล่ได้
นักศึกษาจะต้องมีความเข้าใจหลักกฎหมายมาตรานั้น ๆ ด้วย
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนตรวจข้อสอบมา มีนักศึกษาบางคนจดจำตัวบทกฎหมายได้
แต่ปรากฏว่าสอบไม่ผ่าน ทั้งนี้เพราะนักศึกษาคนนั้นมีแต่ความจำ แต่ขาดความเข้าใจ
จึงทำให้การวินิจฉัยปัญหาผิดพลาดไป
มีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะมีความเข้าใจตัวบทกฎหมายเหล่านั้น
ในเรื่องนี้นักศึกษาจะต้องอ่านคำอธิบายเสียก่อนเป็นเบื้องต้นว่า ในมาตราต่าง ๆ
เหล่านั้น ผู้เขียนตำราเขาให้คำอธิบายไว้ว่าอย่างไรบ้าง
จากนั้นนักศึกษาจึงค่อยมาฟังคำบรรยายจากอาจารย์
จุดไหนที่ยังไม่เข้าใจก็ควรสอบถามอาจารย์ให้ช่วยอธิบายให้ เมื่อได้กระทำดังนี้แล้ว
นักศึกษาก็จะมีความเข้าใจในหลักกฎหมายนั้น ๆ ได้
การรู้จักนำสิ่งที่จดจำและเข้าใจนั้นไปใช้ได้ถูกต้อง
ในเรื่องนี้หมายความว่า เมื่อมีความจำและเข้าใจแล้ว
ต้องรู้จักนำสิ่งที่จดจำและเข้าใจนั้นไปใช้ให้ถูกต้อง หรืออาจจะกล่าวได้โดยง่าย ๆ
ว่า รู้จักใช้กฎหมายให้ถูกต้อง กล่าวคือ ต้องรู้ว่ากรณีใดจึงจะใช้กฎหมายเรื่องใด
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ซึ่งมีหลักสำคัญคือ เป็นการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของผู้อื่น
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
มีหลักสำคัญคือ เป็นการเบียดบังทรัพย์ที่ตนเองครอบครองโดยทุจริต เพราะฉะนั้น
ถ้าปัญหาเขาถามว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์
นักศึกษาต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เขาให้มาว่า การครอบครองทรัพย์อยู่ที่ใคร
อยู่ที่จำเลยหรือผู้เสียหาย ถ้าทรัพย์นั้นอยู่ที่ผู้เสียหาย
จำเลยเอาไปจากการครอบครองของผู้เสียหาย นักศึกษาต้องนำมาตรา 334
มาใช้ตอบ กล่าวคือการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์
แต่ถ้าหากว่าทรัพย์นั้นอยู่ที่จำเลย
โดยจำเลยครอบครองอยู่และจำเลยได้เบียดบังเอาไว้โดยทุจริต ในกรณีนี้ต้องนำมาตรา
352 มาใช้ตอบ
กล่าวคือการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์
ปัญหาว่า
ทำอย่างไรจึงจะเอาสิ่งที่จดจำและเข้าใจไปใช้ได้ถูกต้อง
ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาเองว่า
นักศึกษามีความขยันหมั่นเพียรอ่านหนังสือได้มากน้อยเพียงใด
ถ้านักศึกษาอ่านหนังสือมาก และจำอุทาหรณ์ในหนังสือคำบรรยายได้
ก็จะทำให้นักศึกษาใช้กฎหมายที่ตนจดจำและเข้าใจได้โดยถูกต้อง
ที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องทั่ว ๆ
ไปของการที่จะศึกษาวิชากฎหมายให้ได้ผลดีว่าจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
ต่อไปนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงทัศนะบางประการเกี่ยวกับการลงทะเบียนเรียนและการเตรียมตัวก่อนสอบ
โดยอาศัยจากประสบการณ์ในสมัยที่ผู้เขียนเองเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้
1. การลงทะเบียนเรียน
ก่อนลงทะเบียนเรียน นักศึกษาควรตรวจสอบดูวัน,
เวลาสอบให้ดีว่าวิชาที่จะลงทะเบียนนั้น วิชาไหนสอบวันใด
ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดอันเนื่องมาจากวัน เวลาสอบตรงกัน
ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่นักศึกษาได้
การจัดตารางสอบนั้นควรจัดให้มีวันสอบที่ห่างกันพอสมควรเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างเช่นสอบวันแล้วเว้นไปอีก 2 3 วัน จึงสอบอีกเป็นต้น
ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อว่าช่วงระยะเวลา 2 3 วันที่เว้นไปนั้น
นักศึกษาจะได้มีเวลาทบทวนวิชาที่จะต้องสอบต่อไปให้มีความพร้อมและเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น
ในจำนวนวิชาที่ลงทะเบียนนั้น ควรจัดวิชาที่ยากสลับกับวิชาที่ง่าย
ไม่ควรลงทะเบียนวิชาที่มีความยากทั้งหมดหรือง่ายทั้งหมด ควรที่จะสลับกันไป
เพราะถ้านักศึกษาลงวิชาที่ยากทั้งหมด บังเอิญสอบไม่ผ่าน
นักศึกษาจะเสียกำลังใจและเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากเรียน
2. การเตรียมตัวก่อนสอบ
การสอบไล่ในแต่ละภาคนั้นเป็นการวัดผลว่า
นักศึกษามีความรู้ดีพอที่จะผ่านได้หรือไม่ในแต่ละวิชา ดังนั้น
จึงเป็นความจำเป็นที่นักศึกษาจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
ในการเตรียมตัวก่อนสอบนี้ผู้เขียนขอแยกพิจารณาดังต่อไปนี้
2.1 การอ่านคำอธิบาย
ในการอ่านคำอธิบายหรือตำรากฎหมายนั้น
นักศึกษาควรลงมืออ่านตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจ จะเป็นตั้งแต่วันแรกที่เปิดเรียน
หรือก่อนเปิดเรียนก็ได้ และก็ต้องอ่านสม่ำเสมอทุกวัน เพราะวิชากฎหมายนั้น
ถ้าไม่อ่านสักสามวันก็อาจลืมได้ นักศึกษาไม่ควรไปอ่านเอาตอนก่อนสอบสองวันหรือสามวัน
เพราะการจดจำหลักเกณฑ์ต่าง ๆ
ของกฎหมายอาจจะไม่แม่นยำเหมือนกับการที่นักศึกษาอ่านแต่เนิ่น ๆ สม่ำเสมอทุกวัน
เกี่ยวกับการอ่านคำอธิบายนี้ มีข้อที่อยากจะแนะนำนักศึกษาว่า
ในการอ่านแต่ละวิชานั้น นักศึกษาควรโน้ตย่อ ๆ หลักเกณฑ์ของกฎหมาย
ไม่ว่าจะเป็นหลักทั่วไป ข้อยกเว้น หรือสิ่งที่สำคัญ ไว้ในสมุดต่างหาก
ทั้งนี้เพื่อความสะดวกของนักศึกษาเองในวันที่จะทบทวนก่อนการสอบไล่
มีปัญหาว่าจะต้องอ่านคำอธิบายสักกี่เที่ยวจึงจะมีความจดจำและสอบได้
ในเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าการอ่านคำอธิบายนั้น
ยิ่งอ่านมากเที่ยวเท่าใดยิ่งเป็นการดี
เพราะยิ่งอ่านมากเที่ยวยิ่งจำได้แม่นยำไม่มีลืม ผู้เขียนเองในสมัยที่เรียนอยู่นั้น
ในแต่ละวิชาผู้เขียนจะต้องอ่านหนังสือไม่ต่ำกว่าห้าเที่ยว จึงจะมีความจดจำได้
ทั้งนี้เพราะเหตุว่า
ผู้เขียนเองไม่ได้มีมันสมองอันเลอเลิศที่อ่านเที่ยวเดียวแล้วจำได้
ดังนั้นผู้เขียนจึงอาศัยความขยันมากเป็นพิเศษคือต้องอ่านถึงห้าเที่ยวจึงจะจำได้
กล่าวโดยสรุป การอ่านคำอธิบายควรอ่านแต่เนิ่น ๆ สม่ำเสมอทุกวัน
และอ่านหลาย ๆ เที่ยว
2.2 การท่องตัวบทกฎหมาย
ดังได้กล่าวแล้วว่า
ตัวบทกฎหมายมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตอบข้อสอบ เพราะถ้า
นักศึกษาจดจำตัวบทกฎหมายได้แม่น ย่อมตอบข้อสอบได้คะแนนดี
ดังนั้นนักศึกษาจึงมีความจำเป็นต้องท่องเพื่อให้จำได้ การท่องตัวบทกฎหมายนั้น
ควรกระทำควบคู่ไปกับการอ่านคำอธิบาย คำว่า ควบคู่
ในที่นี้มิได้หมายความว่าทำพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แต่หมายความว่า
การท่องตัวบทนั้นควรท่องเสียแต่เนิ่น ๆ โดยทำสลับกันกับการอ่านคำอธิบาย
ตัวอย่างเช่น วันหนึ่ง ๆ แบ่งเวลาเป็น 3 ชั่วโมง
สำหรับอ่านคำอธิบาย อีก 1 ชั่วโมงสำหรับการท่องตัวบท
ทำเช่นนี้สม่ำเสมอทุกวัน
ไม่ควรท่องเอาตอนใกล้สอบเพราะนักศึกษาอาจจำไม่ได้หรือจำได้แต่ไม่แม่นยำ
เมื่อจำหลักกฎหมายไม่แม่นยำแล้ว นักศึกษาอาจจะวินิจฉัยปัญหาข้อสอบผิดพลาดไป
มีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะท่องตัวบทกฎหมายและจำได้แม่นยำ
ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอแนะนำว่า
นักศึกษาควรใช้ความขยันหมั่นเพียรและความอดทนมากเป็นพิเศษ การท่องตัวบทเที่ยวแรก ๆ
อาจจะจำไม่ค่อยได้ แต่ขอให้พยายามต่อไป โดยท่องหลาย ๆ เที่ยวจนกว่าจะท่องได้
การท่องตัวบทนั้นไม่ควรจำกัดสถานที่ เช่น
นักศึกษาบางคนคิดว่าการท่องตัวบทกฎหมายควรท่องในสถานที่ที่สงบเงียบ วิเวกวังเวง
จึงจะทำให้เกิดสมาธิและจดจำได้ ความจริงไม่ควรคิดเช่นนั้น
การท่องตัวบทกฎหมายอาจท่องได้ในสถานที่บางแห่งแม้จะไม่ใช่สถานที่ที่สงบเงียบ
ถ้าหากว่าเรามีสมาธิก็อาจท่องได้
ตัวอย่างเช่นบนรถโดยสารประจำทางหรือในห้องเรียนระหว่างที่รอคำบรรยายจากอาจารย์ดังนี้เป็นต้น
การท่องตัวบทกฎหมายเพื่อที่จะให้จำได้แม่นยำนั้น
นักศึกษาอาจจะใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าใครจะถนัดวิธีใด
บางคนอาจจะท่องตัวบทกฎหมายโดยแยกหลักเกณฑ์องค์ประกอบเป็นข้อ ๆ ตัวอย่างเช่น
ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
อาจจะใช้ท่องโดยจำหลักเกณฑ์เป็นข้อ ๆ ว่า ความผิดฐานลักทรัพย์มีองค์ประกอบคือ
1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่น
หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนาทุจริต
แต่บางคนอาจจะใช้วิธีท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง
กล่าวคือท่องทุกตัวอักษร เช่น ตามตัวอย่างข้างต้นอาจจะท่องว่า
ความผิดฐานลักทรัพย์มีหลักกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของ
ผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
การท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองนี้มีส่วนดีคือว่า
การท่องจำแบบนี้ถ้าเราสามารถท่องได้หมดทั้งมาตรา
เราจะจำข้อความได้หมดโดยไม่ตกหล่นถ้อยคำหรือข้อความสำคัญไปเลย
แต่ถ้านักศึกษาใช้วิธีท่องจำแบบแยกองค์ประกอบเป็นข้อ ๆ
ถ้านักศึกษาเกิดหลงลืมองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งไป
ก็จะทำให้ขาดสาระสำคัญในมาตรานั้นซึ่งอาจจะทำให้ได้คะแนนไม่ดี
มีปัญหาต่อไปว่า
ในกรณีที่หลักกฎหมายมีหลักเกณฑ์อยู่หลายข้อ
เราจะมีวิธีการในการจดจำหลักเกณฑ์เหล่านั้นทั้งหมดได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น
โทษในทางอาญานั้น ประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 18
ว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้
(1) ประหารชีวิต
(2) จำคุก
(3) กักขัง
(4) ปรับ
(5) ริบทรัพย์สิน
ตามตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า
โทษในทางอาญามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 อย่าง บาง
ครั้งนักศึกษาอาจจะจำไม่ได้ทั้งหมด จึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะจำได้ครบทั้ง
5 อย่าง
ในเรื่องนี้นักศึกษานิติศาสตร์อาวุโสหลายท่านเคยให้คำแนะนำไว้ว่า
ให้นักศึกษาย่อข้อความในแต่ละข้อให้เป็นคำคำเดียวแล้วนำคำย่อคำเดียวนั้นมาต่อกันเข้าเป็นข้อความใหม่ก็จะช่วยในการจดจำได้ทั้งหมด
จาก ตัวอย่างข้างต้นเราอาจย่อได้ดังนี้
(1) คำว่า ประหารชีวิต
ย่อเป็นคำคำเดียวได้เป็น ป
(2) คำว่า จำคุก
ย่อเป็นคำคำเดียวได้เป็น จ
(3) คำว่า กักขัง
ย่อเป็นคำคำเดียวได้เป็น ก
(4) คำว่า ปรับ
ย่อเป็นคำคำเดียวได้เป็น ป
(5) คำว่าริบทรัพย์สิน
ย่อเป็นคำคำเดียวได้เป็น ร
จากนั้นให้นำคำย่อคำเดียวของแต่ละข้อมาเรียงเป็นข้อความใหม่ก็จะได้ว่า
ป จ ก ป ร อ่านว่า ปะ-จก-ปอน
เมื่อมาย่อเป็นข้อความใหม่แล้ว
ก็จะช่วยให้นักศึกษาจำหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบ ได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตามในเวลาตอบข้อสอบนักศึกษาต้องไปขยายความเอาเองว่าคำย่อแต่ละคำนั้นมาจากข้อความว่าอย่างไร
เช่น ตามตัวอย่างข้างต้น ข้อความใหม่ที่ว่า ปจกปร
นั้นมาจากข้อความดังต่อไปนี้
ป มาจากข้อความว่า ประหารชีวิต
จ มาจากข้อความว่า จำคุก
ก มาจากข้อความว่า กักขัง
ป มาจากข้อความว่า ปรับ
ร มาจากข้อความว่า ริบทรัพย์สิบ
ที่กล่าวมานี้เป็นวิธีการท่องจำตัวบทกฎหมาย
ในกรณีที่มาตรานั้น ๆ วางหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบเป็นหลาย ๆ ข้อ
สำหรับวิชาที่ต้องใช้ประมวลกฎหมาย
อย่างไรก็ตามวิธีการเช่นนี้ย่อมนำไปใช้กับวิชาอื่น ๆ
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ประมวลกฎหมายก็ตาม ตัวอย่างเช่น วิชา LW 403
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ
หลายประการ ดังนั้นการที่นักศึกษาจะจำหลักเกณฑ์ต่าง ๆได้ทั้งหมด
นักศึกษาก็อาจนำวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเครื่องช่วยในการที่จะจดจำหลักเกณฑ์ต่าง
ๆ ได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าคำถามเขาถามว่า
จงอธิบายหลักการกำหนดเส้นเขตแดนในลำน้ำ
ในการที่จะตอบคำถามนี้
นักศึกษาจะต้องรู้ว่าการกำหนดเส้นเขตแดนในลำน้ำมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง
สมมติว่าการกำหนดเส้นเขตแดนในลำน้ำมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1. ให้ตลิ่งของรัฐใดรัฐหนึ่งเป็นเส้นเขตแดน
2. ใช้เส้นกึ่งกลางของลำน้ำเป็นเส้นเขตแดน
3. ให้ใช้ร่องน้ำลึกที่ใช้ในการเดินเรือเป็นเส้นเขตแดน
ในการที่จะจำหลักเกณฑ์ได้ทั้งหมด
นักศึกษาอาจจำเอาวิธีการที่กล่าวข้างต้นมาใช้ กล่าวคือ
ย่อข้อความที่ยาวให้เป็นคำคำเดียวหรือสองคำ
จากนั้นนำคำย่อมาต่อกันให้ได้ใจความตามความเข้าใจของนักศึกษาเองหรืออาจเรียกว่าเป็นโค้ตลับของนักศึกษาเอง
จากตัวอย่างข้างต้น เราอาจจะย่อได้เป็นดังนี้
1. ข้อความที่ว่า ให้ตลิ่งของรัฐใดรัฐหนึ่งเป็นเส้นเขตแดน
ย่อได้เป็น ตลิ่ง
2. ข้อความที่ว่า ใช้เส้นกึ่งกลางของลำน้ำเป็นเส้นเขตแดน
ย่อได้เป็น กึ่งกลาง
3. ข้อความที่ว่า ให้ใช้ร่องน้ำลึกที่ใช้ในการเดินเรือเป็นเส้นแขตแดน
ย่อได้เป็น ร่องน้ำ
เมื่อนำคำย่อมาต่อกันเข้าจะเกิดเป็นข้อความใหม่ว่า
ตลิ่งกึ่งกลางร่องน้ำ ในการท่องนักศึกษาก็ท่องแต่เพียงว่า
หลักเกณฑ์ในการกำหนดเส้นเขตแดนในลำน้ำมีดังนี้คือ ตลิ่งกึ่งกลางร่องน้ำ
ส่วนในเวลาเขียนตอบข้อสอบนักศึกษาต้องไปขยายความเอาเองว่า
คำไหนมาจากข้อความว่าอย่างไร อย่างเช่นตัวอย่างข้างต้นข้อความใหม่ที่ว่า ตลิ่งกึ่งกลางร่องน้ำ
นั้นมาจากข้อความดังต่อไปนี้
ตลิ่ง มาจากข้อความว่า ให้ตลิ่งของรัฐใดรัฐหนึ่งเป็นเส้นเขตแดน
กึ่งกลาง มาจากข้อความว่า ใช้เส้นกึ่งกลางของลำน้ำเป็นเส้นเขตแดน
ร่องน้ำ มาจากข้อความว่า ให้ใช้ร่องน้ำลึกที่ใช้ในการเดินเรือเป็นเส้นเขตแดน
วิธีการที่กล่าวมานี้
จะเป็นเครื่องมือช่วยนักศึกษาในอันที่จะจดจำหลักเกณฑ์ต่าง ๆ
ได้ทั้งหมดโดยไม่ตกหล่นเลยแม้แต่น้อย
2.3 การอ่านคำพิพากษาฎีกา
ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายก็ตาม
แต่คำพิพากษาฎีกาก็นับว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะคำพิพากษาฎีกานั้นถือได้ว่า
เป็นการใช้กฎหมายของศาลสูงและคำพิพากษาฎีกาบางเรื่องเป็นการตีความตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ดังนั้น
นักศึกษาควรศึกษาไว้เพื่อให้รู้ว่าศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานในเรื่องนั้น ๆ
ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
ในหนังสือคำอธิบายกฎหมาย
ผู้เขียนมักจะยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาเอาไว้ นักศึกษาควรย่อคำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ ๆ
และเป็นฎีกาที่แปลกเอาไว้ในสมุดต่างหากเพื่อความสะดวกในการทบทวนก่อนสอบ
การอ่านคำพิพากษาฎีกานั้น นักศึกษาจะต้องจำข้อเท็จจริง เหตุผล
พร้อมทั้งคำวินิจฉัยของศาลฎีกาให้ได้
ทั้งนี้เพื่อนำเอาเหตุผลและคำวินิจฉัยไปใช้อ้างอิงเวลาตอบข้อสอบ
2.4 การฝึกหัดตอบข้อสอบ
เมื่อนักศึกษาอ่านคำอธิบายเข้าใจและท่องตัวบทกฎหมายได้แล้ว
นักศึกษาควรทดลองฝึกหัดตอบข้อสอบดูว่า คำอธิบายที่อ่านหรือตัวบทที่ท่องมานั้น
ถ้าข้อสอบจริง ๆ จะพอทำได้หรือไม่และถ้าทำได้ทำได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้
โดยการนำข้อสอบเก่า ๆ
มาลองฝึกตอบและลองจับเวลาดูว่าใช้เวลาในการเขียนคำตอบมากน้อยแค่ไหน
เพื่อเป็นการฝึกฝนตนเองให้เกิดความชำนาญก่อนการสอบไล่จะมาถึง
วิธีตอบข้อสอบวิชากฎหมายแบบอัตนัย
ดังได้กล่าวแล้วว่า
การสอบไล่ในแต่ละภาคนั้นเป็นการวัดผลว่า
นักศึกษาจะมีความรู้ดีพอที่จะผ่านได้หรือไม่
และการที่จะทราบว่านักศึกษาคนใดมีความรู้ดีหรือไม่ ก็โดยการพิจารณาตอบข้อสอบ
มีนักศึกษาหลายคนที่จริง ๆ แล้วมีความรู้วิชากฎหมายดี แต่อาจสอบไล่ตก
ทั้งนี้เพราะนักศึกษาเหล่านั้นไม่เข้าใจวิธีการตอบข้อสอบ
การที่ไม่รู้จักวิธีตอบนั่นเองจึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถแสดงให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบทราบได้ว่า
เขาได้มีวิชาความรู้พอที่จะสอบไล่ได้
ดังนั้นนักศึกษาจึงจำเป็นต้องรู้ว่าวิธีการตอบข้อสอบวิชากฎหมายที่ถูกต้องนั้นเขาทำกันอย่างไร
สำหรับวิธีการตอบข้อสอบวิชา กฎหมายแบบอัตนัยผู้เขียนขอแยกพิจารณาดังต่อไปนี้คือ
1. การตอบคำถามประเภทความจำและความเข้าใจ
2. การตอบคำถามประเภทอุทาหรณ์หรือปัญหาตุ๊กตา
1. การตอบคำถามประเภทความจำและความเข้าใจ
คำถามประเภทความจำและความเข้าใจนั้น
ส่วนมากผู้ออกข้อสอบประสงค์จะให้นักศึกษาอธิบายอย่างงละเอียดในปัญหาที่ถาม เช่น
ถามว่า เจตนาในทางอาญาคืออะไร หรือคำถามที่ว่า
การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อในทางแพ่ง ท่านเข้าใจว่าอย่างไร
หรือคำถามที่ว่าให้นักศึกษาอธิบายความผิดฐานปลอมเอกสาร
หรือคำถามประเภทที่ถามความแตกต่างเกี่ยวกับหลักกฎหมายสองเรื่องที่มีความคล้ายคลึงกัน
เช่น ถามว่า ลักทรัพย์กับยักยอกทรัพย์ต่างกันอย่างไร เป็นต้น
สำหรับคำถามประเภทความจำและความเข้าใจนี้มีวิธีการตอบคือ
ในเบื้องต้นนักศึกษาจะต้องยกหลักกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ ก่อนว่า
ในเรื่องนั้นมีหลักกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไรบ้าง
จากนั้นให้นักศึกษาอธิบายถ้อยคำของกฎหมายโดยอธิบายอย่างละเอียด
พร้อมทั้งยกอุทาหรณ์ประกอบ
ส่วนคำถามประเภทว่าถามความแตกต่างกับหลักกฎหมายสองเรื่องที่มีความคล้ายคลึงกันนั้นมีวิธีการตอบคือ
ให้นักศึกษายกหลักกฎหมายของแต่ละเรื่องลงไว้ จากนั้นอธิบายอย่างละเอียด
โดยเน้นถึงความแตกต่างระหว่างเรื่องทั้งสองนั้น พร้อมทั้งยกอุทาหรณ์ประกอบ
2. การตอบคำถามแบบอุทาหรณ์หรือปัญหาตุ๊กตา
การตอบคำถามประเภทอุทาหรณ์หรือปัญหาตุ๊กตา
จะต้องประกอบด้วยขั้นตอน 3 ขั้นตอนดัง ต่อไปนี้
2.1 หลักกฎหมาย
2.2 การวินิจฉัย
2.3 สรุป
2.1 หลักกฎหมาย
ในการตอบข้อสอบแบบอัตนัยนั้น
ประการแรกสุดนักศึกษาควรยกหลักกฎหมายที่เกี่ยว ข้องกับปัญหาที่ถามขึ้นไว้ก่อนว่า
ในเรื่องนั้น ๆ มีหลักกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไรบ้าง นอกจากนั้นในบางวิชา เช่น
LW 207 หรือ LW 301
นักศึกษาควรแยกองค์ประกอบและอธิบายองค์ประกอบในมาตรานั้น ๆ ด้วย
ทั้งนี้เพื่อแสดงให้อาจารย์ผู้ตรวจเห็นว่า นักศึกษามีความรู้เพียงพอที่จะสอบผ่านได้
ในส่วนของหลักกฎหมายนี้ นักศึกษาจะได้คะแนนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า
นักศึกษรจำได้แม่นมากน้อยเพียงใด
ถ้านักศึกษาเขียนหลักกฎหมายลงในกระดาษคำตอบมีข้อความตรงกันกับที่ประมวลกฎหมายบัญญัติเอาไว้
นักศึกษาก็จะได้คะแนนมาก ถ้ามีข้อความใกล้เคียงบ้างคะแนนก็จะลดหลั่นลงมา ถ้า
นักศึกษาเขียนหลักกฎหมายผิด (สร้างหลักกฎหมายขึ้นเอง)
ในกรณีนี้ก็จะไม่ได้คะแนนเลย
อนึ่ง ขอให้นักศึกษาพึงจดจำไว้ว่า
ถ้านักศึกษาไม่แน่ใจในเลขมาตราก็ไม่ควรใส่ลงไปเพราะถ้าใส่เลขมาตราผิดลงไปอาจถูกหักคะแนนได้
ถ้าไม่แน่ใจเลขมาตราดังกล่าวควรเขียนคำว่า หลักกฎหมายสำหรับเรื่องนี้มีว่า
เท่านี้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว
2.2 การวินิจฉัย
สำหรับขั้นตอนที่สองซึ่งเป็นข้นตอนของการวินิจฉัยนี้
หมายถึงการปรับข้อเท็จจริงให้ เข้ากับหลักกฎหมาย โดยนักศึกษาควรพิจารณาดูว่า
ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ที่ให้มานั้นปรับเข้ากับหลักกฎหมายที่ยกขึ้นไว้แล้วได้หรือไม่
ที่ไม่ได้เพราะขาดองค์ประกอบข้อใดซึ่งนักศึกษาจะต้อง ค่อย ๆ ปรับเป็นตอน ๆ ไป
2.3 สรุป
ในการตอบข้อสอบ
เมื่อนักศึกษายกหลักกฎหมายขึ้นอ้างตามขั้นตอนที่ 1 และ
นักศึกษาได้ปรับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายตามขั้นตอนที่ 2
เสร็จแล้ว ต่อไปก็มาถึงขั้นตอนที่ 3 คือการสรุป
ขั้นตอนนี้หมายความว่า เมื่อยกกฎหมายนั้นมาปรับแก่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เช่น เป็นความผิดหรือไม่ ต้องรับผิดหรือไม่
หรือรับผิดเพียงใด ดังนี้เป็นต้น
ขั้นตอนการสรุปนี้มีความสำคัญมากเหมือนกัน
เพราะเป็นจุดที่อาจารย์ผู้ออกข้อสอบต้องการทราบว่า คำตอบของนักศึกษาจะลงเอยในรูปใด
มีนักศึกษาบางคนหลงลืมขั้นตอนนี้ไปโดยตอบมาเฉพาะขั้นตอนที่ 1
และขั้นตอนที่ 2 ซึ่งอาจถูกหักคะแนนไปบ้าง
ที่กล่าวมาทั้ง 3 ขั้นตอนนี้
เป็นวิธีการตอบคำถามประเภทอุทาหรณ์หรือตุ๊กตา
ซึ่งผู้เขียนขอนำตัวอย่างคำถามและวิธีการตอบ
เพื่อเป็นแนวทางให้นักศึกษาได้นำไปทดลองฝึกตอบดูดังนี้
คำถาม
นายชิงชัยยื่นคำร้องขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่นายไพโรจน์
เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมจดทะเบียนให้ เนื่องจากหลักฐานไม่ครบถ้วน
นายชิงชัยไม่พอใจจึงกลั่นแกล้งเอาความเท็จร้องเรียนต่ออธิบดีกรมที่ดิน
กล่าวหาว่านายไพโรจน์กระทำผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ดังนี้ นายชิงชัยมีความผิดฐานใดหรือไม่
คำตอบ
หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
บัญญัติว่า ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน
ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
ความผิดตามมาตรานี้ แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2. แก่เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
4. โดยเจตนา
การกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137
จะต้องประกอบด้วยการกระทำคือ
มีการเอาข้อความอันเป็นเท็จแจ้งต่อเจ้าพนักงาน
ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาขนและต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา คือ
ผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำ
ทั้งยังต้องประกอบกับการที่ได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่าผู้ที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานและข้อความที่แจ้งเป็นข้อความเท็จ
คำว่า แจ้งข้อความ
หมายถึง การนำข้อเท็จจริงแจ้งต่อเจ้าพนักงาน
การแจ้งข้อความนั้นอาจกระทำโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้
คำว่า ข้อความอันเป็นเท็จ
หมายถึง ข้อความอันไม่ตรงกับความเป็นจริง
คำว่า เจ้าพนักงาน
หมายถึง ข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย
โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน
หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็น เจ้าพนักงาน
คำว่า แจ้งต่อเจ้าพนักงาน
หมายถึง การเอาข้อความแจ้งต่อเจ้าพนักงาน
ซึ่งอาจเป็นการริเริ่มโดยผู้แจ้งไปแจ้งเอง
หรืออาจเป็นการตอบคำซักถามของเจ้าพนักงานก็ได้และที่สำคัญจะต้องเป็นการแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่แจ้งนั้นด้วย
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นายชิงชังเอาข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่ออธิบดีกรมที่ดินกล่าวหาว่านายไพโรจน์กระทำผิดอาญา
เป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จเพราะอธิบดีกรมที่ดินมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
และเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่นายไพโรจน์ได้
จึงเป็นเจ้าพนักงานในความหมายของมาตรานี้
เมื่อนายชิงชังเอาข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงาน
และการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายไพโรจน์
โดยที่นายชิงชังรู้อยู่แก่ใจว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จแต่ยังขืนไปแจ้งซึ่งถือได้ว่านายชิงชัยกระทำโดยเจตนา
ดังนั้นการกระทำของนายชิงชัยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 137
มีปัญหาต่อไปว่า การกระทำของนายชิงชัย จะเป็นความผิดตามมาตรา
172
หรือไม่
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172
บัญญัติว่า ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ
ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน
หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
ความผิดตามมาตรานี้ แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2. เกี่ยวกับความผิดอาญา
3. แก่ พนักงานอัยการ ผู้ว่าดคี
พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
4. ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
5. โดยเจตนา
การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่จะเป็นความผิดตามมาตรา
172 นี้ จะต้องเป็นการแจ้ง เกี่ยวกับความผิดอาญา คำว่า
ความผิดอาญา หมายความว่า
การกระทำหรือการละเว้นที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษของการฝ่าฝืน
หรือไม่ปฏิบัติตามเอาไว้
การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้
จะต้องเป็นการแจ้งต่อบุคคลผู้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. พนักงานอัยการ
2. ผู้ว่าคดี
3. พนักงานสอบสวน
4. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
การแจ้งต่อเจ้าพนักงานดังกล่าว
จะต้องเป็นการแจ้งในขณะที่เจ้าพนักงานนั้นปฏิบัติการ
ตามหน้าที่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้น ๆ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชิงชัยไม่พอใจนายไพโรจน์
จึงกลั่นแกล้งโดยกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา
ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น
ถือได้ว่านายชิงชัยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแล้ว
แต่เนื่องจากว่าอธิบดีกรมที่ดินไม่ใช่พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน
หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ดังนั้น
การกระทำของนายชิงชัยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172
สรุป
1. นายชิงชัยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 137
2. การกระทำของนายชิงชัยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172
ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับการตอบข้อสอบวิชากฎหมายแบบอัตนัย
1. นักศึกษษที่สอบข้อสอบแบบอัตนัยเป็นครั้งแรกนั้น
บางคนอาจเกิดความตื่นเต้นตั้งแต่เข้าไปในห้องสอบ พอกรรมการควบคุมการสอบแจกข้อสอบให้
เกิดความกระวนกระวายใจหรือมีอาการประหม่า
ในกรณีเช่นว่านี้นักศึกษาอย่าลงมือตอบข้อสอบ
ควรนิ่งสงบสติอารมณ์หรือทำจิตใจให้เป็นปกติเสียก่อนแล้วค่อย ๆ ตอบ
อย่าลงมือตอบข้อสอบในขณะที่จิตใจยังตื่นเต้นอยู่ เพราะจะทำให้
นักศึกษาตอบผิดพลาดไปได้
2. เมื่อได้รับแจกข้อสอบมาแล้ว
ให้นักศึกษาอ่านคำถามดูว่าเขาถามเรื่องอะไรบ้าง โดยอ่านคำถามให้ครบทุกข้อ
แล้วพิจารณาดูว่าข้อใดง่าย ข้อใดยาก
นักศึกษาควรเลือกตอบข้อที่ง่ายก่อนแล้วจึงค่อยตอบข้อที่ยาก
ถ้าหากว่าเลือกตอบข้อที่ยากก่อน นักศึกษาอาจใช้สมองกับการคิดการตอบข้อที่ยากไปมาก
ก่อให้เกิดความมึนงงสับสน พอมาสอบข้อที่ง่ายแทนที่จะตอบถูกกลับตอบผิดไป
ดังนี้เป็นต้น
3. หลังจากที่นักศึกษาอ่านปัญหาคำถามเสร็จแล้ว
ก่อนเขียนคำตอบควรจะบันทึกย่อ ๆ
ถึงหัวข้อที่จะตอบลงในกระดาษคำถามโดยเรียงตามลำดับก่อนหลัง เช่น
ตอบมาตรานั้นมาตรานี้ก่อน แล้วจึงตอบมาตราอื่น
หรือตอบหลักเกณฑ์ทั่วไปก่อนแล้วจึงตอบข้อยกเว้น เป็นต้น
เมื่อย่อถึงหัวข้อที่จะตอบลงในกระดาษคำตอบแล้ว
ขั้นต่อไปก็เป็นการเขียนคำตอบลงในสมุดคำตอบ
ให้นักศึกษาเขียนคำตอบเรียงตามลำดับก่อนหลังตามที่ย่อหัวข้อไว้ กล่าวคือ
เรื่องใดที่ควรกล่าวถึงก่อนก็เขียนตอบก่อน อะไรที่ควรกล่าวทีหลังก็เขียนตอบทีหลัง
ทั้งนี้เพื่อจะให้คำตอบเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ใจความที่สละสลวย
อันจะส่งผลให้คำตอบของนักศึกษาได้คะแนนดี
4. การเขียนคำตอบนั้นต้องเขียนในลักษณะที่ว่า
ผู้ตรวจข้อสอบไม่มีความรู้ในวิชากฎหมาย กล่าวคือ
นักศึกษาต้องเขียนคำตอบโดยอธิบายให้แจ่มแจ้งพอที่อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบจะเข้าใจได้
ทั้งนี้เพราะการที่จะรู้ว่านักศึกษาที่เขียนคำตอบนั้นมีความรู้พอที่จะผ่านได้หรือไม่
ก็โดยพิจารณาดูจากคำตอบนั้นเองว่า ผู้ตอบมีความรู้เพียงใด
ดังนั้นนักศึกษามีความรู้อย่างใดก็ต้องแสดงความรู้นั้น ๆ
ออกมาให้ปรากฏในกระดาษคำตอบ
5. ในการเขียนคำตอบควรใช้ถ้อยคำหรือสำนวนกฎหมาย
เพื่อให้คำตอบนั้นเมื่ออ่านแล้วมีข้อความทีสละสลวยชัดเจนและรัดกุม
การที่จะใช้ถ้อยคำหรือสำนวนกฎหมายได้จะต้องอาศัยการจดจำจากตัวบทกฎหมาย
หรือจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกา
อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอแนะนำว่าในการเขียนคำตอบนักศึกษาไม่ควรใช้ภาษาชาวบ้าน
หรือภาษาพูดมาใช้ตอบ เพราะจะทำให้ข้อความไม่สละสลวย ตัวอย่างเช่น เอาละข้าพเจ้าจะวินิจฉัยว่า
ผมว่านายแดงผิดมาตรานี้ ครับผม
จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคำว่า เอาละ
กับคำว่า ครับผม
เป็นภาษาชาวบ้านหรือภาษาพูดซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในการเขียนคำตอบ
6. นักศึกษาควรใช้ความรอบคอบเป็นอย่างมากในการเขียนตอบ
โดยพยายามให้ครบทุกประเด็น เพราะถ้าขาดประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปก็อาจถูกหักคะแนนได้
เนื่องจากคำตอบของนักศึกษาไม่สมบูรณ์
การที่จะตอบให้ครบทุกประเด็นได้นั้น
อาจกระทำได้โดยการที่นักศึกษาอ่านคำถามหลาย ๆ ครั้ง
และพยายามใช้วิจารณญาณตรึกตรองว่า อาจารย์ผู้ออกข้อสอบมีความประสงค์จะให้ตอบอย่างไร
ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความรอบคอบละเอียดละออ ในการอ่านคำถามให้ตลอด
ไม่หายหกตกหล่นแต่ประการใด
7. ในการตอบข้อสอบนั้น คำตอบไม่ควรจะสั้นเกินไปหรือยาวเกินไป
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของคำถามในการสอบไล่เป็นข้อ ๆ ไป
คำถามบางข้อนักศึกษาอาจตอบสั้น ๆ
ก็ได้ใจความเพียงพอที่จะแสดงให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบเห็นว่าผู้ตอบมีความรู้
แต่คำถามบางข้อนักศึกษาจำเป็นต้องตอบยาวเพื่ออธิบายรายละเอียดให้ผู้ตรวจเข้าใจได้ชัดแจ้ง
ดังนั้นการคำนึงถึงสภาพของคำถามจึงเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาว่า ควรตอบสั้น ๆ
หรือตอบแบบยาว ๆ
8. ในการเขียนคำตอบ นักศึกษาควรที่จะเขียนให้อ่านง่าย
อย่าเขียนหวัดจนเกินไป เพราะจะทำให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบอ่านไม่ออก
ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อนักศึกษาได้ นักศึกษาบางคนลายมือไม่สวยก็ไม่เป็นไร
แต่พยายามเขียนตัวบรรจงให้อ่านได้ง่าย
9. นักศึกษาพึงระลึกไว้เสมอว่าในการตอบข้อสอบ
นักศึกษาไม่ควรโต้แย้งข้อเท็จจริงใน คำถาม กล่าวคือ
เมื่อคำถามเขาให้ข้อเท็จจริงมาอย่างไรแล้วก็ต้องถือว่า
ข้อเท็จจริงแห่งปัญหาเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้
นักศึกษาไม่ควรไปโต้แย้งว่าข้อเท็จจริงไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรื่องจริงจากการที่ผู้เขียนได้เคยตรวจข้อสอบของนักศึกษา
กล่าวคือมีคำถามวิชา LW 208 อยู่ข้อหนึ่ง คำถามเขาถามดังนี้
นายดำเป็นกัปตันเรือโดยสารขนาดใหญ่ ได้บรรทุกผู้โดยสารประมาณ 100
คน เพื่อไปส่งปลายทาง ในระหว่างทางมีคลื่นลมพายุรุนแรงมาก
อีกทั้งเรือบรรทุกผู้โดยสารจนเพียบ นายดำเกรงว่าเรือจะล่มจึงจับผู้โดยสารประมาณ
20 คนให้กินยาถ่ายอย่างแรงเพื่อที่จะให้เรือเบาขึ้น
อันจะทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดรอดชีวิต ผู้โดยสาร 20
คนดังกล่าวต้องถ่ายท้องกันคนละหลายครั้งจนร่างกายผอมโซน้ำหนักลดไปคนละหลายกิโลกรัม
ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายดำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพราะเหตุใด
จากคำถามดังกล่าวข้างต้น มีนักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า ถ้าผมเป็นนายดำ
ผมจะประกาศรับสมัครคนกินยาถ่าย ดีกว่าจะขืนใจเขา และใน 100
คน ทำไมจะต้องเป็น 20 คนด้วยครับ 20
คนคงมีกรรมเยอะ โลกหนอโลก
จากคำตอบของนักศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักศึกษาโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำถาม
ซึ่งอาจจะทำให้นักศึกษาได้คะแนนไม่ดี
10. การตอบข้อสอบนักศึกษาควรตอบประเด็นที่ถามเท่านั้น
ไม่ควรตอบในสิ่งที่ไม่ได้ถาม การตอบสิ่งที่ไม่ได้ถามนั้น
แม้จะแสดงให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบเห็นว่า ผู้เขียนมีวิชาความรู้ก็ตาม
แต่การตอบในสิ่งที่ไม่ได้ถามอาจถือว่าผู้ตอบไม่เข้าใจในประเด็นที่ถาม
และการตอบเกินไปเช่นนี้ ย่อมไม่ทำให้ได้คะแนนมากขึ้น
เพราะคะแนนมีไว้สำหรับให้แก่คำตอบที่อาจารย์ผู้ออกข้อสอบประสงค์ให้ตอบเท่านั้น
แต่ถ้าตอบข้อความที่เกินไปผิดพลาดอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบบางท่านอาจตัดคะแนนได้
11. นักศึกษาไม่ควรเขียนเรื่องส่วนตัวลงในสมุดคำตอบ
ไม่ว่าจะเป็นการขอให้สอบได้หรือเรื่องอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นคำถาม
เพราะอาจารย์ผู้ตรวจจะให้ผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำตอบของ นักศึกษาเอง
ตัวอย่างที่นักศึกษาเขียนเรื่องส่วนตัวลงในสมุดคำตอบ เท่าที่ผู้เขียนเคยตรวจพบ เช่น
- กรุณาเถอะครับผมตกมา 5 ครั้งแล้ว
- อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
ถ้าอาจารย์ให้ผ่านก็ชื่นใจ สุขใด ๆ หรือจะมีเท่านี้เอง
- ผมเรียนมาเกือบ 12 ปี
ถ้าวิชานี้อาจารย์อนุญาตให้ผ่าน ผมก็อาจจบ ถ้าอาจารย์เห็น
สมควรด้วยหลักการของอาจารย์แล้ว ก็ได้โปรดเถิดครับ คิดว่าทำบุญหมาสักตัวเถิด
ชาติหน้ามีจริงผมคงได้สนองน้ำใจอาจารย์
ทั้ง 3 ตัวอย่างที่กล่าวมานี้
เป็นเรื่องส่วนตัวของนักศึกษาเอง ซึ่งไม่ควรเขียนลงในสมุดคำตอบ เพราะจะไม่มีผลใด ๆ
แก่อาจารย์ผู้ตรวจเลย เนื่องจากผู้ตรวจต้องตรวจตามเนื้อผ้าอยู่แล้ว
12. ในกรณีที่วิชาใดต้องใช้หลักกฎหมายจากประมวลกฎหมายต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การยกหลักกฎหมายดังกล่าว ควรเขียนเป็นภาษาไทยล้วน ๆ ไม่ควรใช้ภาษาอังกฤษปนมาด้วย
ตัวอย่างเช่น นักศึกษาบางคนตอบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดกล่าว
OR ไขข่าวแพร่หลาย
..
จากตัวอย่างดังกล่าว แทนที่จะเขียนคำว่า หรือ
กลับไปเขียนคำภาษาอังกฤษว่า OR แทน
สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ข้อให้นักศึกษาพึงระมัดระวังเอาไว้
เพราะอาจจะถูกหักคะแนนได้
13. ข้อแนะนำประการสุดท้ายก็คือว่า
เมื่อนักศึกษาเขียนคำตอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังมีเวลาเหลืออยู่
ขอให้นักศึกษาตรวจทานดูว่ามีถ้อยคำที่เขียนตกหล่นหรือผิดพลาดอยู่หรือไม่ ก่อนที่
นักศึกษาจะส่งสมุดคำตอบ เพราะมีการตกหล่นหรือผิดพลาดจะได้แก้ไขให้เรียบร้อย
ทั้งนี้เนื่องจากว่าถ้อยคำที่เขียนตกหล่นหรือผิดพลาดนั้น อาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไป
ตัวอย่างเช่น นักศึกษาบางคนเขียนตอบว่า การกระทำของนายดำ
จึงมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้เป็นต้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้
เป็นทัศนะบางประการเกี่ยวกับวิธีศึกษากฎหมายและการตอบข้อสอบแบบอัตนัย
ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางสำหรับนักศึกษาได้บ้างไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาเองว่าจะเดินไปในแนวทางใด ท่านศาสตราจารย์ ดร.หยุด
แสงอุทัย เคยกล่าวเอาไว้ว่า วิธีศึกษากฎหมายและวิธีตอบข้อสอบ
มีลักษณะเปรียบเหมือนไฟฉายที่ส่องให้เห็นทางเดินในเวลาค่ำมือ
ส่วนจะเดินไปทางใดย่อมแล้วแต่ผู้ประสงค์จะเดิน แต่ทางเดินทุกทางเดินต้องการแสงสว่าง
จึงจะเดินได้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม
ให้นักศึกษาสำรวจตัวเองว่าวิธีการอย่างไรที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
และใช้ได้ผลดีที่สุด แล้วนำเอาวิธีการเช่นนั้นไปใช้
นักศึกษาก็จะประสบความสำเร็จในการศึกษากฎหมายสมดังที่ได้มุ่งหวังเอาไว้ทุกประการ
-----------------------------------------
--1 ดร.หยุด แสงอุทัย วิธีศึกษากฎหมาย
หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ดร.หยุด
แสงอุทัย (กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์บพิธการพิมพ์,2523) หน้า 251